วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ประวัติความเป็นมาของชาติไทย

รักเธอประเทศไทย


ชนชาติไทย การสันนิษฐานของนักโบราณคดีมีมติว่า ชาติไทยเดิมเป็นชาติใหญ่ชาติหนึ่งมีภาษาใช้โดยเฉพาะแยกสาขามาจากพวกมองโกลลงมาทางใต้เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนที่เป็นภาคตะวันตกเฉียงเหนือแห่งมณฑลเสฉวนทุกวันนี้เป็นเวลานานกว่า 4000 ปีขึ้นไป ครั้นต่อ ๆ มาจำนวนพลเมืองของชาติไทยได้ทวีขึ้นเป็นลำดับจึงได้ขยับขยายอาณาเขตออกไปทางตะวันออกคือในดินแดนมณฑลเสฉวนเวลานี้ โดยยึดเอาลำแม่น้ำแยงซีเป็นแนวทางนำ 


        การแผ่อาณาเขตของชาติไทยในครั้งนั้นเป็นทำนองที่พากันไปหาที่ทำกินตามทำเลเหมาะ ๆ ตามชอบใจต่างพวกต่างทยอยกันไปเป็นคราว ๆ และแยกกันอยู่ตามความสะดวกใจเป็นประมาณ เหตุนี้อาณาเขตของชาติไทยจึงได้แยกเป็นเมืองย่อย ๆ และต่างเป็นอิสระแก่กันอยู่หลายเมือง 

        อาณาจักรอ้ายลาว คือพวกไทยที่อพยพลงมาทางใต้เนื่องจากถูกพวกตาดและพวกตีนรุกรานแย่งชิงที่ทำมาหากินในทางเศรษฐกิจเรามีแสนยานุภาพน้อยจำต้องทิ้งที่ทำมาหากินถอยลงมาทางใต้ก่อนพุทธศักราช 392 ปีและครั้งที่ 2 ในราว พ.ศ. 400 แล้วพากันมาตั้งอาณาจักรอิสระขึ้นใหม่ให้ชื่อว่า อาณาจักรอ้ายลาว มีราชธานีอยู่ทางฮุนหนำเรียกว่า เพงาย ผู้เป็นหัวหน้าตั้งตัวเป็นกษัตริย์ปกครองทรงพระนามว่า ขุนเมือง ระยะนี้เราต้องทำสงครามต่อสู้กับจีนอยู่เสมอเป็นเวลาเกือบ 200 ปีในราว พ.ศ. 622 เราต้องเสียอิสรภาพให้แก่จีนอีกครั้งหนึ่ง พวกไทยส่วนมากที่รักอิสระภาพก็พากันถอยร่นมาทางใต้เป็นลำดับเรามีกษัตริย์ที่เข้มแข็งอีกองค์หนึ่งในสมัยนี้ 

อาณาจักรน่านเจ้า พวกไทยที่อพยพลงใต้ได้แยกย้ายกันตั้งเป็นอิสระมี 6 หัวเมืองมีชื่อเรียกตามภาษาจีนว่า 

1. มงซุ้ย 

2. เอี้ยแซ่ 

3. ล่างกง 

4. เท่งเซี้ยง 

5. ซีล่าง 

6. มุ่งเส 

ปกครองโดยสามัคคีธรรมนครมุ่งเสมีความเจริญและพลเมืองมากกว่าหัวเมืองอื่น ๆ เพราะมีกษัตริย์สินุโลที่เข้มแข็งปกครองโอรสสืบราชสมบัติต่อมามีพระนามว่าพระเจ้าโก๊ะล่อฝางและเมื่อจีนมารุกรานก็ต้องพ่ายแพ้ไป 

อาณาจักรลานช้างและลานนา 

        ราว พ.ศ. 1400 กษัตริย์ไทยผู้ครองเมือง แกง ในอาณาจักรสิบสองจุไทย พระนามว่า ขุนบรม มีโอรส 2 พระองค์ 

1.พระนามว่าขุนลอได้ยกทัพมาตีเมือง เซ่า (หลวงพระบาง) ของขอมได้เลยตั้งเป็นอาณาจักรลานช้างราชธานีอยู่ที่กรุงศรีสัตนาคนหุต 

2.ขุนชัยพงศ์ยกกองทัพมาตีมณฑลพายัพได้เลยตั้งเป็นอาณาจักรของตนขึ้นชื่อว่า ลานนา ตั้งโยนกนาคนครหรือโยนกเชียงแสนเป็นราชธานี 

อาณาจักรเดิมในสุวรรณภูม 

ชนชาติพื้นเมืองเดิมที่อยู่ในสุวรรณภูมิก่อนที่คนไทยอพยพลงมามีหลายชาติด้วยกัน 

1.ชาติขอม มีดินแดนอยู่ทางลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ 

2.ชาติลาว (ละว้า) มีดินแดนอยู่ทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 

3.ชาติมอญ (รามัญ) มีดินแดนอยู่ทางลุ่มแม่น้ำสาละวิน 

ชาติลาวมีอาณาเขตกว้างขวางมาก นักประวัติศาสตร์ได้แบ่งออกเป็น 3 อาณาเขต 

1.อาณาเขตทวาราวดี อยู่ทางตอนใต้มีนครปฐม (แถบนครไชยศรี) เป็นราชธานี 

2.อาณาเขตโยนก อยู่ทางตอนเหนือมีนครเงินยางเป็นราชธานี 

3.อาณาเขตโคตรบูร อยู่ทางตะวันออกมีเมืองนครพนมเป็นราชธานี 

        อาณาจักรลานนาไทย กษัตริย์ที่น่ารู้จักมีพระนามว่า พรหมมหาราช เป็นโอรสของพระเจ้าพังคราช ซึ่งสมัยนั้นเป็นเมืองขึ้นของขอม พระเจ้าพังคราชเสด็จหนีไปอยู่เมืองเวียงสีทองสะสมกำลังหาโอกาส เพื่อจะกู้เอกราชคืนจากขอมแต่ไม่มีความสามารถเมื่อราชโอรสคือพระเจ้าพรหมพระชนมายุได้ 15 พรรษาทูลพระราชบิดามิให้ส่งส่วยแก่ขอม ขอมจึงยกขึ้นไปตีแต่กลับเสียทีพระเจ้าพรหมทั้งขอมยังต้องเสียอาณาเขตมาถึงเมืองชะเลียง (สวรรคโลก) อีกด้วย พระเจ้าพรหมได้ทรงสร้างเมือง ไชยปราการ (ปัจจุบันคืออำเภอฝางอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่) เป็นเมืองหลวง 

อาณาจักรสมัยกรุงสุโขทัย 
        สุโขทัยเป็นราชธานีแรกของประเทศไทยที่ได้รับการสถาปนาขึ้นหลังจากที่ได้อพยพหลบภัยกันเรื่อยมาจึงนับว่าสุโขทัยเป็นเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และในแง่ของการปกครองประเทศไทยได้เริ่มกันอย่างจริงจังที่นั่น แม้ว่าสุโขทัยจะเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศไทย แต่ในทางประวัติศาสตร์สุโขทัยก็เป็นเมืองเจริญถึงขนาดเป็นศูนย์กลางการค้าเป็นย่านชุมนุมและเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนา 

รายพระนามกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย 

1.พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ.ศ. 1800-1811 รวมครองราชย์อยู่ 11 ปี 

2.พ่อขุนบาลเมือง พ.ศ. 1811-1820 รวมครองราชย์อยู่ 10 ปี 

3.พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พ.ศ. 1820-1860 รวมครองราชย์อยู่ 40 ปี 

4.พระเจ้าเลอไทย พ.ศ. 1860-1890 รวมครองราชย์อยู่ 30 ปี 

5.พระเจ้าลือไทย (ลิไทย) พ.ศ. 1890-1921 รวมครองราชย์อยู่ 31 ปี 

6.พระเจ้าไสยลือไทย พ.ศ. 1921-1932 รวมครองราชย์อยู่ 11 ปี 

7.พระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไม่ได้บอกถึงปีที่ขึ้นครองราชย์) พ.ศ. 1962 

8.พระมหาธรรมราชาที่ 4 พ.ศ. 1962-1970 รวมครองราชย์อยู่ 8 ปี 

ความเจริญในสมัยกรุงสุโขทัย  
        1.การปกครอง ในรัชสมัยของพระเจ้ารามคำแหง พระองค์มีความใกล้ชิดกับพลเมืองมากเป็นการปกครองแบบบิดากับบุตร พระองค์โปรดให้แขวนกระดิ่งไว้หน้าพระราชวังใครมีทุกข์ร้อนก็ให้ไปสั่นกระดิ่ง พระองค์จะตัดสินคดีให้ด้วยความเป็นธรรม เมื่อถึงวันพระก็เสด็จไปสั่งสอนประชาชนที่พระแท่นมนังคศิลาในด้านการปกครองของประเทศ พระองค์แบ่งการปกครองเป็น 

- หัวเมืองชั้นใน พระเจ้าแผ่นดินปกครองโดยตรง 

- หัวเมืองชั้นนอก ขุนนางผู้ใหญ่ปกครอง 

- ประเทศราช ให้ปกครองกันเองแต่ต้องส่งส่วยมีดอกไม้เงิน ทอง ตามประเพณีเมืองขึ้นยามสงครามก็จะต้องเกณฑ์มาเป็นทหารช่วยรบ 

        2.การติดต่อกับต่างประเทศ พระองค์ได้ดำเนินการอย่างฉลาดในการขยายอาณาจักร เช่น ยอมรับเป็นไมตรีกับจีนใน พ.ศ. 1829 เพื่อไม่ให้จีนเข้ามารุกรานทำไมตรีกับไทยในลานนาเป็นการตัดศึกทางเหนือแล้วก็เริ่มขยายอาณาเขตไปทางใต้ได้กว้างขวางในทางตะวันตกก็ได้ดินแดนมอญ ซึ่งพระเจ้าฟ้ารั่วราชบุตรเขาครอบครองอยู่ นับว่าพระองค์ได้มีวิธีการในการติดต่อกับต่างประเทศได้อย่างฉลาด 

        3.การศึกษา ในรัชกาลพระเจ้ารามคำแหงพระองค์ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เป็นภาษาของเราเองใน พ.ศ. 1826 โดยดัดแปลงมาจาก อักษาคฤนถ ซึ่งเคยใช้ในดินแดนตอนใต้ 

        4.ศาสนา สมัยพระเจ้ารามคำแหงได้นิมนต์พระสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราชไปตั้งที่กรุงสุโขทัยและทำไมตรีกับลังกา เราได้พระพุทธสิหิงค์ในรัชกาลนี้ศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์ได้เข้ามาในประเทศไทยราว พ.ศ. 1800 เศษ เนื่องจาก พระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราชลังกา ทรงฟื้นฟูขึ้นมีชาวไทยไปศึกษาเล่าเรียนมาเผยแพร่ทางนครศรีธรรมราชเป็นครั้งแรก 

        5.การทะนุบำรุงบ้านเมือง ทรงบำรุงการค้าขาย เลิกเก็บภาษีจังกอบทรงนำช่างจากเมืองจีนมาทำชามสังคโลกและถ้วยชามอื่น ๆ เป็นการส่งเสริมการอุตสาหกรรม ทรงทะนุบำรุงทั้งในด้านการปกครอง การขยายอาณาจักรทำให้กรุงสุโขทัยสมัยนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก 

อาณาจักรสมัยกรุงศรีอยุธยา 

        24 รายพระนามกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา 

ราชวงศ์เชียงราย 

        1.สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พ.ศ. 1893-1912 

        2.สมเด็จพระราเมศวร พ.ศ. 1912-1913 

ราชวงศ์สุพรรณภูมิ 

        3.สมเด็จพระบรมราชาที่ 1 (ขุนหลวงพระงั่ว) พ.ศ. 1913-1931 

        4.พระเจ้าทองลัน (ครองราชย์ 7 วัน) พ.ศ. 1931 

ราชวงศ์เชียงราย 

        5.สมเด็จพระราเมศวร (ครองครั้งที่ 2) พ.ศ. 1931-1938 

        6.สมเด็จพระรามราชาธิราช พ.ศ. 1938-1952 

ราชวงศ์สุพรรณภูมิ 

        6.สมเด็จพระนครินทราธิราช พ.ศ. 1952-1967 

        7.สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) พ.ศ. 1967-1991 

        8.สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 1991-2031 

        9.สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พ.ศ. 2031-2034 

        10.สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ. 2034-2072 

        11.สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (หน่อพุทธางกูร) พ.ศ. 2072-2076 

        12.พระรัษฎาธิราชกุมาร (ครองราชย์ 5 เดือน) พ.ศ. 2076 

        13.สมเด็จพระไชยราชาธิราช พ.ศ. 2077-2089 

        14.พระแก้วฟ้า (พระยอดฟ้า) พ.ศ. 2089-2091 

        15.สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ. 2091-2111 
        
        16.สมเด็จพระมหินทราธิราช พ.ศ. 2111-2112 

ราชวงศ์สุโขทัย 

        17.สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 1 (พระมหาธรรมราชา) พ.ศ. 2112-2133 

        18.สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พ.ศ. 2133-213348 

        19.สมเด็จพระเอกาทศรถ พ.ศ. 2148-2163 

        20.สมเด็จเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ พ.ศ. 2163 

        21.สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ. 2163-2171 

        22.สมเด็จพระเชษฐาธิราช พ.ศ. 2171-2173 

        23.พระอาทิตย์วงศ์ (ครองราชย์ 17 วัน) พ.ศ. 2173 

        24.สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2173-2198 

        25.สมเด็จเจ้าฟ้าชัย พ.ศ. 2198-2199 

        26.สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา (ครองราชย์ 3 เดือน) พ.ศ. 2199 

        27.สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2199-2231 

        28.สมเด็จพระมหาบุรุษ (พระเพทราชา) พ.ศ. 2231-2246 

        29.สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 2 (ขุนหลวงสรศักดิ์) พ.ศ. 2246-2251 

        30.สมเด็จพระภูมินทราชา (ขุนหลวงท้ายสระ) พ.ศ. 2251-2275 

        31.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. 2275-2301 

        32.สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ครองราชย์ 2 เดือน) พ.ศ. 2301 

        33.สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) พ.ศ. 2301-2310 

รวมเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทย 417 ปี กษัตริย์รวม 33 พระองค์ 

สรุปเหตุการณ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา 

        ในสมัย พระรามาธิบดีที่ 1 การปกครองแบบขอมและสุโขทัยรวมกัน 

ขอมมีการปกครองเป็นแบบจตุสดมภ์ ได้แก่ ขุนเมือง ขุนวัง ขุนคลัง และขุนนา 

        การปกครองแบบสุโขทัยจัดหัวเมืองแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก และประเทศราช ในรัชกาลต่อมาก็เช่นกัน 

        พระบรมไตรโลกนาถ จัดการปกครองใหม่โดยแบ่งเป็น 2 แผนก 

        1.การทหาร มีสมุหกลาโหมเป็นหัวหน้า 

        2.พลเรือน มีสมุหนายกเป็นหัวหน้าและมีเสนาบดีชั้นรองลงมาอีก 4 ตำแหน่งได้แก่จตุสดมภ์เปลี่ยนเรียกชื่อใหม่ 

        ขุนเมือง เปลี่ยนเป็น นครบาล 

        ขุนวัง เปลี่ยนเป็น ธรรมธิกรณ์ 

        ขุนคลัง เปลี่ยนเป็น โกษาธิบดี 

        ขุนนา เปลี่ยนเป็น เกษตราธิการ 

        นอกจากนี้ตามหัวเมืองยังจัดเป็น ชั้นตรี โท เอก และยังมีตำแหน่งข้าราชการกำหนดระบบศักดินา บรรดาศักดิ์ มีพระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน ทนาย นอกจากนี้ยังตั้งกฎมณเฑียรบาลคือแบบแผนในราชสำนักขึ้นเป็น 

        - พระตำรา ว่าด้วยพระราชพิธี 

        - พระธรรมนูญ ว่าด้วยตำแหน่งราชการ 

        - พระราชกำหนด ว่าด้วยข้อบังคับในราชสำนัก 

ต่อมาในรัชกาลพระรามาธิบดีที่ 2 ก็คงปกครองแบบเดียวกันกับพระบรมไตรโลกนาถ แต่ทรงแก้ไขการทหารใหม่คือ 

        1.ทำสารบัญชี หรือเรียกตามปัจจุบันว่า สัสดี เป็นเจ้าพนักงานทำทะเบียนพลเมืองบรรดาชายฉกรรจ์ต้องมีหน้าที่เป็นทหารทุกคน อายุ 18-20 จัดเป็น ไพร่สม ต้องฝึกทหาร เรียกว่า ไพร่หลวง รับราชการต่อไปจนอายุ 60 ปีปลดเป็น ไพร่ส่วย ถ้ามีบุตรรับราชการแทนถึง 3 คนก็ให้พ้นราชการได้ 

        2.ทำตำราพิชัยสงคราม คือประมวลหัวข้อเกี่ยวกับกลยุทธต่าง ๆ แต่ไม่ปรากฎว่ามีเหลืออยู่เลย ในรัชกาลนี้ชาวต่างประเทศ คือ ปอร์ตุเกส ได้เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับไทยเป็นชาติแรก เมื่อ พ.ศ. 2076 

        รัชสมัยพระไชยราชาธิราช มีพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้หรือสุวรรณเอกกษัตริย์แห่งพม่าทรงยกทัพแผ่อำนาจรุกไล่มอญแล้วเลยมาตีเขตแดนไทยที่เมืองเชียงกราน (อัตตะรัน) พระไชยราชาธิราชยกกองทัพไปตีกลับคืนมาได้เป็นสาเหตุครั้งแรกที่ไทยกับพม่าเป็นอริกัน 

        การเสียกรุงครั้งที่ 1 สาเหตุมาจากเรามีช้างเผือกมากพม่าอยากจะได้จึงส่งทูตเข้ามาขอไทยไม่ให้จึงเกิดรบกันไทยพ่ายแพ้เสียกรุงเมื่อ วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2112 ตามความเป็นจริงแล้วขณะนั้นพระยาจักรีเป็นไส้ศึก 

        สมัยพระนเรศวรมหาราช พระองค์ได้กู้เอกราชกลับคืนมาได้ทำให้พม่าและประเทศต่าง ๆ ไม่กล้ายกเข้ามารุกรานไทยหลายปี 

        สมเด็จพระนารายณ์มหาราช บ้านเมืองรุ่งเรืองมาก เศรษฐกิจสังคมและศิลปวิทยาตลอดทั้งการคมนาคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางอักษรศาสตร์และวรรณคดี ในรัชกาลนี้ได้รับการฟื้นฟูรุ่งโรจน์ที่มีกวีเอกที่สำคัญดังนี้ 

        1.สมเด็จพระนารายณ์ ทรงนิพนธ์โคลงพาลีสอนน้อง โคลงทศรถสอนพระราม โคลงราชสวัสดี และสมุทรโฆษคำฉันท์ (ตอนต้น) 

        2.พระโหราธิบดี แต่งจินดามณี 

        3.พระมหาราชครู แต่งสมุทรโฆษคำฉันท์ (ตอนกลาง) 

        4.ศรีปราชญ์ (บุตรของพระโหราธิบดี) แต่งกำสรวลศรีปราชญ์และอนิรุทธคำฉันท์ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาบ้านเมืองว่างเว้นจากสงคราม แต่ผู้ปกครองมีแต่แก่งแย่งชิงดีฆ่าฟันกันเองเป็นสาเหตุทำให้คนดีมีฝีมือตายและเสียกรุงในเวลาต่อมา 

อาณาจักรสมัยกรุงธนบุรี 

พ.ศ. 2310 อยู่ในรัชกาลของพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (ขุนหลวงขี้เรื้อน) กรุงศรีอยุธยาก็ได้เสียแก่พม่าอีกเป็นครั้งที่ 2 ปราสาทราชวังถูกพม่าเผาและทำลายจนไม่มีชิ้นดี หากเราผ่านไปที่กรุงเก่าปัจจุบันจะรู้สึกว่ากรุงศรีอยุธยานั้นรุ่งเรืองเจริญมาก แต่เพราะเจ้าผู้ครองนครอ่อนสมรรถภาพในการปกครองพม่าเพียงแต่แม่ทัพเล็ก ๆ ก็ยังสามารถตีกรุงแตก ในสมัยนี้เราได้ทหารเอกซึ่งสมควรได้รับสมัญญามหาราชต่อท้ายชื่อทหารเอกผู้นั้นได้แก่พระยาตากสินได้ทำการกู้อิสรภาพไทยกลับคืนมาอีกโดยทำการปราบก๊กต่าง ๆ มี 5 ก๊ก 

        1.ก๊กพระเจ้าฝาง เจ้าเมืองสวางคบุรีตั้งตัวเป็นเจ้าพึ่งเป็นพระมีเขตแดนทิศเหนือติดเมืองแพร่ น่าน และหลวงพระบางทิศใต้ต่อเมืองพิษณุโลก 

        2.ก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลก เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลกอยู่ก่อน ครั้งแรกเป็นทหารผู้ใหญ่ทางกรุงศรีอยุธยาส่งขึ้นไปปกครองเมื่อกรุงตกจึงตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่พิษณุโลกมีอาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยจนถึงเมืองนครสวรรค์ 

        3.ก๊กเจ้านคร เดิมเป็นปลัดผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราชมีอำนาจในทางใต้ เมื่อกรุงแตกเลยตั้งตัวเป็นใหญ่มีอาณาเขตตั้งแต่แหลมมลายูขึ้นมาจนถึงชุมพร 

        4.ก๊กกรมหมื่นเทพพิพิธ พระองค์เป็นโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศถูกเนรเทศไปอยู่ลังกาและหนีกลับมา พอกรุงแตกเลยตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองพิมาย บางครั้งเรียกว่า เจ้าพิมาย มีอาณาเขตปกครองตลอดมณฑลนครราชสีมา 

        5.ก๊กพระยาตาก (สิน) เป็นเชื้อจีนเป็นข้าราชการในสมัยพระเจ้าบรมโกศไปครองเมืองตากแล้วเลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการ 

เจ้าเมืองกำแพงเพชรถูกเกณฑ์มารักษากรุงแต่เห็นเหลือวิสัยจึงรวบรวมสมัครพรรคพวกได้ประมาณ 500 ตีฝ่ายทัพพม่าออกไปตั้งตัวเป็นใหญ่ ทางจังหวัดระยอง ชลบุรี และยกเข้าตีจันทบุรีได้ เมื่อมีกำลังสามารถพอจึงยกเข้ามาตีพระนครพ้นจากเงื้อมมือพม่า ปราบกบฏ ก๊กต่าง ๆแล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ เมื่อพระชนมายุได้ 34 ปีมีพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีในปี พ.ศ. 2310 ชาติไทยพ้นจากความเป็นทาสพม่า 

อาณาจักรสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ 

        1.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฯ ขึ้นเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. 2325 เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2352 รวมเสวยราชย์ 27 ปี ในรัชกาลนี้มีทัพพระเจ้าปะดุงกษัตริย์พม่ายกทัพมารบไทยถึง 9 ทัพที่ท่าดินแดงลาดพญ้าและหัวเมืองชายทะเลทางปักษ์ใต้ แต่พ่ายแพ้ไทยไปทั้งสองครั้งวีรสตรีไทยเกิดขึ้นในรัชกาลนี้สองท่านคือ 

        1.ท้าวเทพกษัตริย์ (จันทร์) 

        2.ท้าวศรีสุนทร (มุกด์) 

        นางจันทร์เป็นภรรยาของปลัดผู้ครองเมืองถลาง (ภูเก็ต) ส่วนนางมุกด์เป็นภรรยานายอาจได้รวมสมัครพรรคพวกตีต้านพม่าข้าศึกจนได้ชัยชนะ 

        2.พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ฯ ขึ้นเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. 2352 เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2367 รวมเสวยราชย์ 15 ปี ในรัชกาลนี้มีกวีเกิดขึ้นมากอาทิเช่น พระองค์เอง สุนทรภู่ เจ้าพระยาพระคลังหนกรมพระปรมานุชิตชิโนรส 

        3.พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. 2367 เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2394 รวมครองราชย์ 27 ปี 

        ในรัชกาลนี้เราได้วีรสตรีไทยแกล้วกล้าคนหนึ่ง คือ คุณหญิงโม ซึ่งได้นามใหม่ว่า ท้าวสุรนารี ปัจจุบันได้หล่อรูปจำลองตั้งตระง่านอยู่ที่ค่ายชุมพล จังหวัดนครราชสีมา 

        4.พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. 2394 สวรรคตเมื่อ พ.ศ.2411 รวมครองราชย์ 17 ปี 

        ในรัชกาลนี้เกิดคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกายขึ้นคู่กับคณะสงฆ์ไทยเดิมทำให้ยุ่งยากทางศาสนา 

        กรมการปกครองและในการเผยแพร่ศาสนาเพราะผู้ใหญ่ทรงพระหัวโบราณมีมาก แม้ภิกษุสามเณรจะศึกษาต่างประเทศก็ไม่ได้คณะสงฆ์สองนิกายในเมืองไทยเข้าในราชพิธีและสังฆกรรมไม่ได้ โดยพวกหนึ่งมัวถือแต่ว่าตัวเป็นพระแท้อีกพวกหนึ่งเป็นเพียงสามเณรเลยกลายเป็นการแบ่งชั้นวรรณะความจริงทั้งสองนิกายก็มีการปฏิบัติและประพฤติในพระธรรมวินัยไม่เห็นผิดแผกแตกต่างกันเท่าใดนัก 

        5.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. 2411 ทำพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 1 เมื่อพระชนมายุได้ 16 พรรษาทำบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 ระหว่างยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้นมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2453 รวมครองราชย์ 42 ปี 

        ในรัชกาลนี้มีการปรับปรุงกรุทรวงทบวงกรมใหม่คือ 

        1. กระทรวงกลาโหม 

        2. กระทรวงมหาดไทย 

        3. กระทรวงนครบาล (เวียง) 

        4. กระทรวงวัง 

        5. กระทรวงพระคลัง (คลัง) 

        6. กระทรวงเกษตราธิการ (นา) 

        เพิ่มกระทรวงขึ้นอีก 4 กระทรวงเป็น 10 กระทรวง 

        7. กระทรวงต่างประเทศ 

        8. กระทรวงยุติธรรม 

        9. กระทรวงธรรมการ 

        10. กระทรวงโยธาธิการ 

        นอกจากนี้ได้ทรงประกาศเลิกทาสห้ามค้าทาสจัด พ.ร.บ. การเกณฑ์ทหารขึ้นใหม่ให้มีการฝึกหัดทหารแบบยุโรป โดยพระองค์เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 ครั้งหลัง พ.ศ. 2450 จัดศาลการนครบาลการเก็บภาษี การรถไฟ การโทรเลขและการศึกษาขึ้นนับว่าบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองกว่ารัชกาลที่แล้วมา 

        6.พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเสวยราชย์ พ.ศ. 2453 สวรรคต พ.ศ. 2468 รวมครองราชย์ 15 ปี 

        พระองค์ทรงจัดตั้งกองลูกเสือป่าขึ้นใน พ.ศ. 2453 สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2459 ตรา พ.ร.บ. ประถมศึกษาปรับปรุงกำหนดกฎหมายใหม่นำไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ชาติอื่น ๆ รู้จักไทยมากขึ้น ประโยชน์ที่ไทยได้ในสงครามโลกครั้งนี้คือ 

        1. ไทยได้รับเอกราชทางศาล 

        2. เราเรียกเก็บพิกัดอัตราภาษีได้ตามใจชอบ 

        7.พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ขึ้นเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. 2468 สละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2477 รวมเสวยราชย์ 9 ปี (พระองค์สวรรคตเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2482 ณ ประเทศอังกฤษ) ในรัชกาลนี้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองใต้ระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร์อันมีพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าฝ่ายทหาร มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือนมีการวางหลักการปกครอง 6 ประการของคณะราษฎร์ดังนี้ 

        1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้อย่างมั่นคง 

        2.จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ 

        3.จะต้องรักษาทะนุบำรุงความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจแก่ราษฎร 

        4.ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอเท่าเทียมกัน 

        5.ให้ราษฎรมีเสรีภาพ-อิสรภาพ 

        6.ให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเต็มที่ 

        8.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขึ้นเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. 2477 สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2489 รวมครองราชย์เมื่อ 12 ปี ในรัชกาลนี้ไทยได้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 และรอดมาได้เป็นที่น่าเสียใจที่พระองค์ได้สิ้นพระชนม์โดยถูกลอบปลงพระชนม์ ขณะที่ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง 

        9.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. 2489 จนกระทั่งปัจจุบัน 

รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 เป็นโอรสในกรมหลวงสงขลานครินทร์และพระราชชนนีศรีสังวาล (ต่อมาได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีตามราชประเพณีแต่โบราณกาล) รัชกาลที่ 8 ประสูติที่เยอรมัน รัชกาลที่ 9 ประสูติที่มลรัฐ แมสสาชูเลส สหรัฐเมริกา

ที่มา
https://sites.google.com/site/iamkanlb/
 อัพเดทเข้ามา  1  พฤศจิกายน  2563   เวลา   07.10 น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

โพสต์แนะนำมารู้จักอำเภอของเราครับ

ประวัติอำเภอปากช่อง จังหวัด นครราชสีมา

  ประวัติความเป็นมา ของ อำเภอปากช่อง อำเภอใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา   มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย  ที่พัก  อาหารอร่อยๆ  ติดต่อสอบถาม ในเวลาร...

บทความมาใหม่

บทความท้ายเล่ม ทีมงานบล๊อกไทยแลน์

บทความที่ได้รับความนิยม