วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เวลามาตรฐานกรีนิชคืออะไร?

 เวลามาตรฐานกรีนิชคืออะไร?


เรื่องและวิดีโอ โดยสุชีรา มาไกวร์ ผู้สื่อข่าววิดีโอ

วันอาทิตย์ที่ 29 ต.ค. นี้ อังกฤษจะปรับเวลาถอยหลัง 1 ชั่วโมงเตรียมเข้าสู่ฤดูหนาว เปลี่ยนมาใช้เวลามาตรฐานกรีนิชหรือ GMT (Greenwich Mean Time) ทำให้เวลาที่อังกฤษช้ากว่าที่ไทย 7 ชั่วโมง

เวลามาตรฐานกรีนิช หรือ GMT คือเวลาตามนาฬิกา Shepherd Gate ที่หน้าประตูทางเข้าหอดูดาวที่ตำบลกรีนิชทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน เป็นค่าเวลาที่คำนวณจากค่าเฉลี่ยเวลาที่ดวงอาทิตย์ข้ามผ่านเส้นเมริเดียนปฐมและอยู่ในตำแหน่งสูงสุดตอนเที่ยงวันในรอบหนึ่งปี


เส้นเมริเดียนปฐมคืออะไรและมีความสำคัญกับการบอกเวลาอย่างไร?

เส้นเมริเดียนเป็นเส้นสมมติที่ลากจากขั้วโลกเหนือไปยังขั้วโลกใต้ เป็นแนวคิดทางดาราศาสตร์เพื่อช่วยกำหนดตำแหน่งดวงดาว เส้นเมริเดียนปฐมมีค่า 0 องศาลองจิจูด ทุก ๆ 15 องศาลองจิจูดมีค่าเวลาต่างกัน 1 ชั่วโมง



ในปี 1675 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 พระราชทานที่ดินส่วนหนึ่งบนยอดเขาในตำบลกรีนิชทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน เพื่อสร้างเป็นหอดูดาวแห่งแรกของประเทศ อังกฤษจึงเริ่มกำหนดเส้นเมริเดียนกรีนิชมาตั้งแต่ปี 1675 จนราวกลางศตวรรษที่ 19 หลายประเทศเริ่มกำหนดเส้นเมริเดียนของตัวเองจนเกิดความสับสนว่าจะใช้เส้นเมริเดียนที่ใดเป็นหลัก ในเดือน ต.ค. ปี 1884 มีการประชุมที่กรุงวอชิงตันดีซี เพื่อกำหนดเส้นเมริเดียนเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ผลการประชุมสรุปให้เส้นเมริเดียนที่กรีนิชนี้เป็นเส้นเมริเดียนปฐมของโลก เนื่องจากเป็นที่รู้จักแพร่หลายและได้รับการตีพิมพ์ในปฏิทินเดินเรือมาก่อนแล้ว

ปัจจุบัน เส้นเมริเดียนปฐมที่หอดูดาวกรีนิชเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์กรีนิช ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของอังกฤษ มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมราวปีละเกือบ 8 แสนคน

รู้จักกับเวลามาตรฐานกรีนิช

ช่วงศตวรรษที่ 15 เริ่มมีการเดินเรือกันอย่างแพร่หลาย อังกฤษเป็นประเทศแรก ๆ ที่พัฒนาเครื่องมือบอกเวลาในการเดินทะเล จนนำไปสู่การคิดค้นปฏิทินเดินเรือในปี 1767

ดร. ลูอิส เดอวอย ภัณฑารักษ์ประจำหอดูดาวกรีนิชบอกว่า เดิมทีผู้คนนับเวลาที่ดวงอาทิตย์ข้ามผ่านเส้นเมริเดียนปฐมเป็นจุดกำหนดเวลาเที่ยงวัน ช่วงศตวรรษที่ 17 นักดาราศาสตร์ที่หอดูดาวเฝ้าสังเกตเวลาที่ดวงอาทิตย์ข้ามผ่านเส้นเมริเดียนปฐมช่วงระยะเวลาหนึ่ง และพบว่าดวงอาทิตย์ไม่ได้ข้ามผ่านเส้นเมริเดียนปฐมตอนเที่ยงวันเสมอไป และอาจต่างกันมากถึง 16 นาที เหตุเพราะแกนโลกเอียงและการโคจรของโลกเป็นวงรีรอบดวงอาทิตย์ มีความเร็วไม่สม่ำเสมอ พวกเขาจึงคิดหาวิธีกำหนดค่ากลางเวลาเที่ยงวันของแต่ละวันในรอบปี เรียกว่า เวลามาตรฐานกรีนิช และตั้งค่านาฬิกา Shepherd Gate ที่หน้าทางเข้าหอดูดาวเป็นเวลามาตรฐานท้องถิ่นของกรุงลอนดอน



ช่วงก่อนศตวรรษที่ 19 ผู้คนยึดเวลาท้องถิ่นในเมืองของตัวเองเป็นเวลามาตรฐานหลัก โดยอาศัยนาฬิกาแดดเป็นเครื่องมือบอกเวลา เพื่อคำนวณว่ายังจะมีแดดออกอีกกี่ชั่วโมงในแต่ละวัน โดยเฉพาะคนที่ทำงานในชนบท นั่นหมายถึงว่า เวลาท้องถิ่นของแต่ละเมือง เช่น เวลามาตรฐานบริสตอล หรือเวลามาตรฐานเบอร์มิงแฮมอาจห่างกันราว 3-5 นาที ต่อมาผู้คนเริ่มเดินทางโดยรถไฟกันมากขึ้น การยึดเวลามาตรฐานท้องถิ่นที่ต่างกันก่อให้เกิดความสับสนในการจัดการเดินทาง




ในปี 1847 เรลเวย์ เคลียริง เฮาส์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องการเดินรถไฟของอังกฤษกำหนดให้ใช้เวลามาตรฐานกรีนิชเป็นเขตเวลามาตรฐานของประเทศ เพื่อความสะดวกในการเดินทางและการค้าขาย ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และถูกนำไปปรับใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก

ทำไมอังกฤษต้องปรับเวลาปีละ 2 ครั้ง?

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลอังกฤษประกาศปรับเวลาปีละ 2 ครั้ง โดยเชื่อว่าจะช่วยประหยัดการใช้พลังงานถ่านหินซึ่งเป็นทรัพยากรจำเป็นช่วงหลังสงคราม การปรับเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง โดยปรับเวลาเร็วขึ้น 1 ชั่วโมงในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคม และปรับเวลาถอยหลัง 1 ชั่วโมงในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม

ปัจจุบัน การปรับเวลายังเป็นแนวปฏิบัติในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อมุ่งเน้นเพื่อการประหยัดการใช้พลังงานโดยทั่วไป


ขอบคุณที่มาบทความดี ๆ จาก 
BBC  ไทย

https://www.bbc.com/thai

https://www.bbc.com/
อัพเดท หน้านี่  14  พฤศจิกายน  2564  เวลา  14.45
โดย  แอดมิน






1 ความคิดเห็น:

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

โพสต์แนะนำมารู้จักอำเภอของเราครับ

ประวัติอำเภอปากช่อง จังหวัด นครราชสีมา

  ประวัติความเป็นมา ของ อำเภอปากช่อง อำเภอใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา   มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย  ที่พัก  อาหารอร่อยๆ  ติดต่อสอบถาม ในเวลาร...

บทความมาใหม่

บทความท้ายเล่ม ทีมงานบล๊อกไทยแลน์

บทความที่ได้รับความนิยม